วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การใช้ทรัพยากรณ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นแก่มนุษย์ เนื่องจากสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวมนุษย์ในด้านต่างๆ มากมาย การที่มนุษย์นำทรัพยากรไปใช้นั้นหากมีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่รู้คุณค่า ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
โดยทั่วไป ทรัพยากรธรรมชาติจัดออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

ทรัพยากรดิน
ดินเกิดจากการสลายและผุพังของหินชนิดต่างๆ แล้วคลุกเคล้าปะปนกับอินทรียสารชนิดต่างๆ รวมทั้งน้ำและอากาศ ลักษณะของดินที่แตกต่างกันนั้นเนื่องจากองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป
ลักษณะของดินในประเทศไทย มีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่พบดินนั้นๆ คือ
๐ บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงสองฝั่งแม่น้ำ เป็นบริเวณที่มีโคลนตะกอนถูกพัดมาทับถมกันเป็นจำนวนมาก โดยมากมักเป็นดินตะกอนที่มีอายุน้อย ลักษณะของดินเป็นดินเหนียว เนื้อละเอียด เมื่อแห้งจะจับตัวกันแน่น เช่น บริเวณพื้นดินสองฝั่งแม่น้ำในจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น
๐ บริเวณที่ราบลุ่มต่ำมาก เป็นบริเวณที่มีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำมีซากพืชซากสัตว์ทับถมกันเป็นชั้นหนาจนเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุปะปนอยู่มากพบได้ในบริเวณชายฝั่งจังหวัดนราธิวาสบริเวณบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์
๐ บริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่มักจะมีเนินทรายหรือหาดทรายอยู่มาก ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างน้อย พบในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทั่วไป เช่น ชายฝั่งทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๐ บริเวณที่ห่างจากสองฝั่งแม่น้ำออกไป เป็นดินที่ถูกชะล้างเนื่องจากการไหลของน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ส่วนมากมักเป็นดินเหนียว เมื่อเวลาผ่านไปดินบริเวณนี้จะค่อยๆ ลดความอุดมสมบูรณ์ลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นดินที่ไม่มีคุณภาพ
๐ บริเวณภูเขาที่ไม่สูงชัน ส่วนมากเป็นดินที่ถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ตามธรรมชาติ มีอินทรียสารสะสมอยู่ แต่หากป่าไม้ถูกทำลายจะทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินโดยน้ำและลมอย่างรุนแรง ทำให้ดินเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว
๐ บริเวณดินที่มีสารประเภทเบสปะปนอยู่มาก เช่น หินปูน ดินมาร์ล เป็นต้น เมื่อสารเหล่านี้สลายตัวลงจะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินที่เหมาะในการเพาะปลูกพืชประเภทพืชไร่
การใช้ดินให้เกิดประโยชน์ การใช้ดินให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและและนานที่สุดสามารถทำได้ดังนี้
๐ การปลูกพืชหมุนเวียน
๐ การปลูกพืชแบบขั้นบันได
๐ การปลูกป่าในพื้นที่ลาดชัน และไม่ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเกษตรกรรม

ปัญหาทรัพยากรดิน ในประเทศไทยมี 2 แบบ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและปัญหาที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์


ทรัพยากรน้ำ
โลกที่เราอาศัยอยู่ประกอบไปด้วยพื้นน้ำถึง 3 ส่วน เป็นทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนได้ ไม่มีวันหมดไปจากโลก แต่ถูกทำให้เสื่อมสภาพหรือมีคุณภาพต่ำลงได้
แหล่งน้ำแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
๐ น้ำบนดิน ได้แก่ น้ำในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ น้ำจากแหล่งนี้จะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
- ปริมาณของน้ำฝนที่ได้รับ
- อัตราการสูญเสียของน้ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการระเหยและการคายน้ำ
- ความสามารถในการกักเก็บน้ำ
๐ น้ำใต้ดิน เป็นน้ำที่แทรกอยู่ใต้ดิน ได้แก่ น้ำบาดาล การที่ระดับน้ำใต้ดินจะมีปริมาณมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
- ปริมาณน้ำที่ไหลจากผิวดิน
- ความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ในชั้นหิน
ความสำคัญของน้ำ น้ำมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตมากมายดังนี้
๐ ด้านเกษตรกรรม เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
๐ ด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ
๐ ด้านการอุตสาหกรรม
๐ ด้านการอุปโภคและการบริโภค
การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
๐ การพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆ ที่ตื้นเขิน
๐ ใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ปล่อยให้น้ำที่ใช้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
๐ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า
๐ ป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษกับแหล่งน้ำ
ทรัพยากรป่าไม้
ป่าไม้เป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้นน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดิน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารต่างๆ ในธรรมชาติ ฯลฯ
ป่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อโลก
แนวทางในการอนุรักษ์ป่าไม้
- การทำความเข้าใจถึงความสำคัญของป่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโลก
- การสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการดูแลรักษาป่าไม้ในชุมชน ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการเปิดโอกาสโดยภาครัฐในการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน
- การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่า และการออกกฎเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า
- ช่วยกันปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยอาจจะเป็นการร่วมมือกับสมาชิกในชุมชนเพื่อปลูกป่าในโอกาสต่างๆ
- ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการร่วมอนุรักษ์ป่าไม้รวมถึงสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นด้วย
ทรัพยากรแร่
ทรัพยากรแร่ หมายถึง แร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก ทั้งบริเวณส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่พื้นน้ำ ซึ่งมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการ
แหล่งกำเนิดแร่ แร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในบริเวณเปลือกโลกเกิดมาจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
- ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้แร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ใต้ผิวโลกถูกผลักดันขึ้นมา
- การแปรสภาพทางเคมีของหินประเภทต่างๆ ที่อยู่บนเปลือกโลกจนได้แร่ชนิดใหม่เป็นองค์ประกอบ
ประเทศไทยมีแร่ธาตุต่างๆ อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยสามารถพบแร่ธาตุชนิดต่างๆ กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ เช่น
- แร่ลิกไนต์ พบมากที่ อ.ปูดำ จ.กระบี่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
- หินน้ำมัน พบมากที่ อ.แม่สอด จ.ตาก
- แร่เกลือหินโพแทซ พบกระจัดกระจายทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
- แร่รัตนชาติ พบมากแถบภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย
- แร่ดีบุก พบมากที่ จ.พังงา และหลายจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย
วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ ทรัพยากรแร่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นทุกคนจึงต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรแร่อย่างเต็มความสามารถ
วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่มีหลากหลายวิธีดังแนวทางต่อไปนี้
- ใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างรู้คุณค่า โดยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะทำได้
- ใช้แร่ธาตุให้ตรงกับความต้องการและตรงกับสมบัติของแร่ธาตุนั้นๆ
- แยกขยะที่จะทิ้งออกเป็นส่วนๆ ตามประเภทของขยะ คือ ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ เช่น เศษอาหาร เป็นต้น ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉายแบบต่างๆ แบตเตอรี่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การนำขยะไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ทำได้ง่ายขึ้น และลดการขุดใช้แร่ธาตุต่างๆ ลง
แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบัน ทุกคนคงทราบดีถึงสภาพความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น และหากทุกคนยังคงนิ่งเฉย ไม่ตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม อีกไม่นานปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็จะไม่สามารถแก้ไขกลับมาให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตได้ และเราทุกคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมก็จะได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ในฐานะที่เราทุกคนเป็นมนุษย์ เราจึงควรตระหนักและหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วยความเข้าใจอย่างจริงจัง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังของเราทุกคน ขอเพียงแค่เราตั้งใจทำและทำการอนุรักษ์จนเป็นนิสัย เพียงเท่านี้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงามก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน
แนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำได้ดังแนวทางดังนี้
- การเริ่มต้นอนุรักษ์ควรเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวและทำได้ง่ายก่อน เช่น เริ่มจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน บริเวณหมู่บ้าน หรือในอำเภอของตนเอง
- ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราให้เข้าใจ เพราะลักษณะของสิ่งแวดล้อมแต่ละท้องถิ่นมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
- ปฏิบัติการอนุรักษ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และพยายามหาเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกันมาร่วมกันทำงาน เพื่อเพิ่มกำลังคนและแนวคิดในการอนุรักษ์
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องยากจนเกินความสามารถของทุกคนหากตั้งใจที่จะทำ เพราะเพียงแค่การนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นการช่วยลดปริมาณขยะได้แล้ว หรือการแยกขยะก่อนทิ้งก็จะเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไปได้อีกทางหนึ่ง ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางประการของการปฏิบัติการเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากทุกคนช่วยกันคิดช่วยกันทำ เราทุกคนก็จะมีชีวิตที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีทรัพยากรต่างๆ ให้เราใช้สอยกันอย่างเพียงพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น