วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การปลูกป่าชายเลน

การปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ป่าชายเลนประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด บางชนิดขยายพันธุ์โดยส่วนที่เรียกว่าฝักและบางชนิดขยายพันธ์โดยส่วนที่เป็นผลและเมล็ด โดยธรรมชาติ ฝัก ผล หรือเมล็ด ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนทุกชนิด สามารถที่จะงอก และเจริญเติบโตได้เมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม แต่เมื่อต้องการที่จะปลูกในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อทางเศรษฐกิจหรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ตาม จำเป็นต้องทำการเก็บรวบรวมฝัก ผล และเมล็ด เพื่อนำมาใช้ปลูกโดยตรง หรือมาเพาะในเรือเพาะชำเป็นกล้าไว้ก่อน เพื่อเตรียมไว้ปลูกในช่วงเวลาที่มีฝักหรือเมล็ดไม่เพียงพอ ซึ่งการปลูกเพื่อให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องธรรมชาติของไม้แต่ละชนิดและสภาพสิ่งแสดล้อมแล้ว ยังจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการและเทคนิคในการปลูกและดูแลรักษาด้วย สำหรับวิธีการและเทคนิคนั้น จะแตกต่างไปตามลักษณะของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด 

วิธีการและเทคนิคการปลูก
1. การปลูกโดยใช้ฝัก พันธุ์ไม้ที่ใช้ฝักในการขยายพันธุ์ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora- mucronata) โกงกางใบเล็ก (R. apiculata) รังกะแท้ (Kandelia candel) พังกา หัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) พังกาหัวสุมดอกขาว (B. sexangula) ถั่วขาว (B. cylindrica) ถั่วดำ (B. parviflora) โปรงแดง (Ceriopstagal) และโปรงขาว (C. decandra) เป็นต้น เทคนิคการปลูกโดยใช้ฝักปลูกดำเนินการได้ในสองกรณี คือ
1.1 การปลูกโดยใช้ฝักปลูกโดยตรง
1.1.1 สำหรับพันธุ์ไม้ที่มีขนาดของฝักยาว เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก รังกะแท้ และโปรงแดง สามารถใช้ฝักปลูกลงในพื้นที่ได้ทันที โดยในการปลูกควรจับฝักห่างจากโคนฝักประมาณหนึ่งในสามของความยาวของฝัก และให้ส่วนโคนของฝักอยู่ทางด้านนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ คือมีลักษณะเหมือนกำฝักไว้ในอุ้งมือ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปักฝักลงไปได้สะดวกและและอยู่ในแนวดิ่ง โดยเมื่อปลูกให้ปักฝักลงในดินจนนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ชิดผิวดิน ถ้าหากพื้นที่ที่ปลูกเป็นดินปนทรายและแน่นทึบ ควรใช้ไม้แหลมขนาดเท่าหรือโตกว่าฝักของชนิดไม้ที่จะปลูกเล็กน้อยแทงนำร่องก่อน เพื่อลดความกระทบกระเทือนของการเสียดสีระหว่างดินกับผิวของฝักที่ปลูก และเมื่อหย่อนฝักลงไปในหลุมที่เตรียมไว้แล้วให้กดดินบริเวณรอบโคนฝักให้แน่นแนบสนิทกับฝัก เพื่อไม่ให้โยกคลอนโดยเฉพาะจากอิทธิพลของแรงกระแสคลื่นและลม
1.1.2 สำหรับพันธุ์ไม้ที่มีฝักขนาดเล็กหรือสั้น เช่น พังกาหัวสุมดอกแดง พังกา หัวสุมดอกขาว ถั่วดำ ถั่วขาว และโปรงขาว การปลูกควรจับฝักห่างจากโคนฝักประมาณหนึ่งในสามลักษณะเหมือนจับปากกา ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการปลูก แล้วปักลงในดินไม่ให้ลึกนัก ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของฝักทั้งหมด การปลูกโดยใช้ฝักโดยตรงในพื้นที่จะช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและสะดวกในการปลูก แต่การที่ปลูกแล้วจะได้ผลดีจำเป็นจะต้องเลือกฝักที่มีอายุแก่เต็มที่และมีลักษณะสมบูรณ์ไม่ถูกทำลายโดยแมลง โดยเฉพาะมอดเจาะเมล็ดไม้จะเจาะฝักหรือเมล็ดมีขนาดเท่ารูเข็มหมุด เนื่องจากมีการเก็บฝักที่หล่นจากต้นมาเป็นเวลานาน หรือเก็บรักษาฝักไว้นานจนผิวแห้ง การป้องกันจึงควรเก็บรักษาฝักให้เปียกชื้นอยู่เสมอ จะช่วยในการป้องกันการทำลายของมอดเจาะชนิดนี้ได้ แต่ละฝักที่จะนำไปปลูกจะต้องคัดเลือกและตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ฝักที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง จึงจะทำให้การปลูกด้วยฝักได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ
วิธีการปลูกโดยใช้ฝักปักในพื้นที่ปลูกโดยตรง (a) กรณีฝักมีขนาดยาว (b)กรณีฝักมีขนาดสั้น
1.2 เทคนิคในการเพาะชำฝักลงในถุงเพาะชำ สามารถดำเนินการได้ดังนี้ จัดสร้างเรือนเพาะชำให้มีขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณกล้าไม้ที่ต้องการใช้ในการ ปลูก และเผื่อไว้ปลูกซ่อมอีก 20% โดยใช้ตาข่ายพรางแสงประมาณ 50 – 70 % ขึงกับเสาไม้หรือเสาคอนกรีตที่ปักลงในดินจนแน่น แล้วนำถุงพลาสติกที่ใส่วัสดุเพาะชำ (อาจใช้ดินเลนผสมแกลบเผา อัตราส่วน 1:1) วางไว้เป็นบล็อกที่มีทางเดินทั้งสองข้างของบล็อก แล้วใช้ฝักปลูกลงในถุงเพาะชำ โดยปักลงไปประมาณหนึ่งในสาม หรือหนึ่งในสี่ของความยาวฝักได้ ตามแต่ขนาดของฝัก การจับฝักควรจับแบบจับปากกา จะสามารถช่วยให้ปลูกได้สะดวกกว่า กรณีทีเป็นฝักยาวก็จะต้องปรับให้แทงทะลุถุง และจะต้องให้ฝักตั้งตรงด้วย การนำฝักมาเพาะไว้ในเรือนเพาะชำก่อนจะนำไปปลูกในพื้นที่โดยตรงนั้น จะช่วยให้การเจริญเติบโตและการรอดตายมากขึ้น ข้อควรระวังในการใช้กล้าปลูกคือ อย่างให้รากทะลุก้นถุงลงในดิน เมื่อย้ายไปปลูกระบบรากจะกระทบกระเทือนอาจทำให้ตายได้ โดยเฉพาะไม้โกงกาง


2. การปลูกโดยใช้เมล็ด สามารถดำเนินการได้กับพันธุ์ไม้ที่ขยายพันธุ์โดยเมล็ด หรือ ผล เช่น ตะบูนขาว (Xylocarpus granatum) ตะบูนดำ (X.moluccensis) แสมขาว (Avicennia alba) แสมทะเล (A. marina) ฝาดดอกขาว (Lumnitzera racemosa) ฝาดดอกแดง (L.littorea) หงอนไก่ทะเล (Heritiera littoralis) และหลุมพอทะเล (Intsia bijuga) เป็นต้น แต่เนื่องจากเมล็ดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน จะถูกพัดพาไปตามกระน้ำได้ง่าย ในทางปฏิบัติจึงไม่นิยมปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงในพื้นที่ และที่ได้ผลดีที่สุดคือ ต้องนำเมล็ดไม้เหล่านี้มาทำการเพาะชำ เพื่อเตรียมกล้าไม้ไว้ให้แข็งแรงและเพียงพอก่อนนำไปปลูกโดยตรงในพื้นที่จึงจะทำให้การปลูกได้ผลดี โดยเทคนิคในการเพาะชำจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของเมล็ดแต่ละชนิด เช่น เมล็ดลำพู ลำแพนที่มีขนาดเล็ก ควรเพาะในกะบะเพาะก่อน แล้วย้ายต้นอ่อนลงในถุงเพาะชำ เมล็ดตะบูนขาวที่มีขนาดใหญ่สามารถเพาะลงในถุงเพาะชำโดยตรงได้ เป็นต้น

3. การปลูกโดยใช้กล้าไม้ที่ได้จากการเตรียมกล้าในแปลงเพาะ มีเทคนิคในการปลูกดังนี้
3.1 การเตรียมหลุมปลูก
หลุมที่จะปลูกต้องจัดเตรียมไว้โดยใช้เสียมขุด ให้มีขนาดโตและลึกกว่าขนาดของถุง เพาะเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้ฝังลงในดินได้มิดพอดี หรืออาจจะใช้ไม้หลักปักลึกลงในดินตรงจุดที่จะปลูก แล้วโยกไม้วนไปรอบๆ เป็นวงกลม เพื่อให้ได้หลุมกว้างพอที่จะหย่อนกล้าไม้ลงไปได้อย่างสะดวกและไม่กระทบกระเทือนต่อรากไม้ด้วย โดยก่อนที่จะหย่อนกล้าลงในหลุม ควรทำการปรับก้นหลุมให้อยู่ในระดับพอเหมาะกับขนาดถุงเพาะชำ
3.2 การปลูกและระยะการปลูก
ใช้มือทั้งสองบีบอัดดินในถุงเพาะชำให้เกาะยึดกันแล้วใช้มือฉีกหรือใช้มีดกรีดถุงออก ก่อนปลูก หรืออาจใช้มีดกรีดเฉพาะก้นถุงให้ขาดออกจากกันโดยรอบก็ได้ แล้วใช้มือประคองดินในถุงเพาะ แล้วหย่อนกล้าลงไปในถุงที่เตรียมไว้แล้วโดยจัดวางกล้าไม้ให้ตั้งตรง แล้วสุดท้ายใช้ดินกลบปิดปากหลุมและกดอัดดินรอบๆ หลุมให้แน่น เพื่อไม่ให้กล้าไม้ที่ปลูกโยกคลอนจากแรงคลื่นและแรงลม สำหรับระยะการปลูกของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ส่วนใหญ่จะใช้ระยะการปลูกประมาณ 1x1 เมตร หรือ 1.5 x 1.5 เมตร หรือน้อยกว่าซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ไม้ชนิดต่างๆ กัน และวัตถุประสงค์อย่างอื่นของการปลูกด้วย เช่นการปลูกเพื่อการเป็นกำแพงกันคลื่นลมตามชายฝั่งทะเล การปลูกเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำอาจปลูกระยะถี่ 0.75 x 0.75 เมตรก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก http://flaw2-49-6.blogspot.com/2007/01/blog-post.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น